การส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ เป็นโอกาสทองสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดสู่ระดับโลก เพื่อเพิ่มยอดขายและสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ แต่หลายคนอาจยังสงสัยว่าอยากทำธุรกิจส่งออกควรเริ่มต้นอย่างไร ? เนื่องจากการเริ่มต้นธุรกิจส่งออกต่างประเทศดูเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและน่ากลัวสำหรับมือใหม่ แต่หากเข้าใจขั้นตอนและมีการวางแผนอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยเสริมความสำเร็จให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
ข้อได้เปรียบของการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ
1. ขยายฐานลูกค้าสู่ตลาดโลก
การส่งออกเปิดโอกาสให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น ซึ่งสินค้าบางชนิดอาจมีความต้องการสูงกว่าตลาดในประเทศ เช่น สินค้าหัตถกรรมไทย หรืออาหารแปรรูปอย่างทุเรียนแช่แข็งที่มีความต้องการสูงในจีน การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสขยายฐานลูกค้าและเพิ่มยอดขายได้อย่างมหาศาล
2. เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้ในสกุลเงินต่างประเทศ
การขายสินค้าส่งออกทำให้ได้รับรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ หรือยูโร ซึ่งมีมูลค่าที่มั่นคง เพิ่มโอกาสสร้างรายได้สูงกว่าสกุลเงินบาท ทั้งยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนตัว นอกจากนี้ การส่งออกยังช่วยให้ธุรกิจสามารถเจาะตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ในระยะยาว
3. ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียว
การพึ่งพารายได้จากตลาดในประเทศอย่างเดียวอาจทำให้เกิดความเสี่ยงจากปัจจัยในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กำลังซื้อที่ลดลง ความผันผวนของตลาด หรือวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งการส่งออกจะช่วยกระจายความเสี่ยง เพิ่มช่องทางรายได้จากตลาดต่างประเทศ หากตลาดในประเทศมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ก็ยังมีตลาดต่างประเทศที่รองรับ จึงสามารถสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจได้ในระยะยาว
4. สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล
การมีสินค้าในตลาดต่างประเทศไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มยอดขาย แต่ยังสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ในระดับสากล การที่ผู้บริโภคต่างประเทศรู้จักและยอมรับสินค้าจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ ทำให้ธุรกิจโดดเด่นในสายตาของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
ขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจส่งออก
1. ศึกษาตลาดให้ละเอียด
ก่อนเริ่มธุรกิจส่งออก สิ่งแรกที่ควรทำคือศึกษาตลาดเป้าหมายอย่างรอบด้าน เพื่อทำความเข้าใจความต้องการ และพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าในตลาดเป้าหมาย เช่น ตลาดยุโรปอาจให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ขณะที่ตลาดเอเชียอาจสนใจสินค้าที่เน้นความสะดวกสบาย แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าสินค้าของเราตรงกับความต้องการในประเทศปลายทางหรือไม่ จากนั้นจึงสำรวจคู่แข่งในตลาด พร้อมกับดูแนวโน้มธุรกิจ ซึ่งการศึกษาตลาดอย่างละเอียดจะช่วยให้สามารถกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมและปรับผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าในตลาดเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
2. เตรียมสินค้าสำหรับการส่งออก
สินค้าส่งออกต้องมีคุณภาพที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของตลาดปลายทาง โดยควรคำนึงถึงมาตรฐานการผลิตที่แต่ละประเทศกำหนด ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัย บรรจุภัณฑ์ รวมถึงฉลากสินค้าที่ระบุข้อมูลจำเป็น เช่น รายละเอียดผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ วันหมดอายุ ข้อมูลที่ต้องใช้ตามกฎหมายของประเทศปลายทาง ซึ่งการเตรียมสินค้าที่ตอบโจทย์และได้มาตรฐานจะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันและสร้างความไว้วางใจในตลาดเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. ดำเนินการขนส่ง
เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยยืนยันความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของการส่งออกสินค้า ซึ่งการจัดเตรียมเอกสารอย่างครบถ้วนจะช่วยลดความล่าช้าในกระบวนการส่งออก โดยมีเอกสารสำคัญที่ต้องจัดเตรียม เช่น
- ใบขนสินค้าขาออก (Export Declaration) ใช้เพื่อแสดงรายการสินค้าที่จะส่งออก
- ใบกำกับสินค้า (Invoice) ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า เช่น ชื่อสินค้า ปริมาณ มูลค่า
- ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ใช้ยืนยันว่าสินค้าผลิตในประเทศไทย ซึ่งอาจช่วยลดภาษีนำเข้าในบางประเทศที่มีข้อตกลงการค้าเสรี
- ใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) เป็นหลักฐานการขนส่งสินค้า
4. ดำเนินการขนส่ง
การเลือกวิธีการขนส่งที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลต่อทั้งต้นทุนและระยะเวลาในการจัดส่งสินค้า โดยมีสิ่งที่ควรพิจารณา ได้แก่
- ลักษณะสินค้า สินค้าที่เปราะบาง หรือเน่าเสียง่าย อาจต้องใช้การขนส่งทางอากาศ ขณะที่สินค้าที่มีน้ำหนักมากอาจเลือกการขนส่งทางเรือเพื่อประหยัดต้นทุน
- ระยะเวลาที่ต้องการจัดส่ง เลือกวิธีการขนส่งที่เหมาะสมต่อระยะเวลาที่ลูกค้าต้องการ หากต้องการความรวดเร็วอาจต้องเลือกเป็นการขนส่งทางอากาศ
- ผู้ให้บริการขนส่ง ควรเลือกที่มีประสบการณ์และมีระบบติดตามการขนส่งที่ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าจะถึงปลายทางในสภาพสมบูรณ์และตรงเวลา
5. ตรวจสอบกฎหมายและข้อกำหนดการส่งออกของประเทศปลายทาง
แต่ละประเทศมีกฎหมายและข้อกำหนดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้า โดยบางประเทศอาจมีข้อจำกัดเกี่ยวกับสินค้านำเข้า หรือการกำหนดมาตรฐานเฉพาะ เช่น สินค้าต้องมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ หรือฉลากที่ใช้ต้องเป็นภาษาท้องถิ่น การตรวจสอบข้อกำหนดเหล่านี้ล่วงหน้าจะช่วยลดปัญหาการถูกปฏิเสธสินค้า รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงของการล่าช้าในกระบวนการนำเข้าสู่ประเทศปลายทางด้วย
6. จัดทำงบบัญชี
การบริหารจัดการทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญในการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ โดยควรเริ่มคำนึงถึงต้นทุนการขนส่ง เช่น ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง ค่าภาษี ซึ่งต้องพิจารณาผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจเปลี่ยนแปลงร่วมด้วย รวมถึงการวางแผนการรับชำระเงินจากต่างประเทศ เช่น การใช้ Letter of Credit (L/C) หรือการโอนเงินผ่านระบบ T/T ซึ่งอาจมีค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นมาในต้นทุน การจัดทำงบบัญชีอย่างรอบคอบจะช่วยให้แบรนด์มองเห็นภาพรวมของผลกำไรและสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเริ่มต้นธุรกิจส่งออกต่างประเทศอาจดูซับซ้อน แต่หากมีการวางแผนที่ดีและมีความพร้อม การส่งออกก็เป็นโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดโลก Sabuy Express พร้อมให้บริการส่งของไปต่างประเทศในราคาถูก โดยสามารถเลือกตรวจสอบราคาค่าส่งพัสดุไปต่างประเทศด้วยตัวเองผ่านทางเว็บไซต์ พร้อมให้บริการที่ครอบคลุมครบวงจร ตั้งแต่การจัดเตรียมสินค้า ขนส่งสินค้า พร้อมดำเนินพิธีการนำเข้าผ่านศุลกากร โดยสามารถติดตามสถานะได้ตลอด 24 ชั่วโมง สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ 02-026-8996 หรือ https://lin.ee/E6PHauT
แหล่งอ้างอิง
- ฉันต้องการ… เริ่มต้นธุรกิจส่งออก. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 จาก https://www.ditp.go.th/exporting-business