การส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงอย่างสหรัฐอเมริกา ถือเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ประกอบการหลายคน แต่ก่อนจะไปสู่โอกาสนั้น ยังมีอุปสรรคที่ผู้ส่งออกต้องเผชิญ นั่นคือเรื่องของภาษีนำเข้า ซึ่งผู้รับปลายทางจำเป็นจะต้องชำระภาษีอากรขาเข้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าส่วนบุคคล หรือเพื่อการพาณิชย์ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีนำเข้าอเมริกาก่อนวางแผนในการส่งสินค้า จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับค่าใช้จ่ายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องได้อย่างราบรื่น
อัตราภาษีนำเข้าอเมริกา
โดยทั่วไปแล้วภาษีนำเข้าจากไทยไปยังสหรัฐอเมริกาจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสินค้า (Ad Valorem) หรือ ราคาต่อหน่วย (Specific) ซึ่งมีอัตราภาษีอยู่ระหว่าง 0% ถึง 37.5% เฉลี่ยอยู่ที่ 5.63% ซึ่งอาจมีสินค้าบางประเภทไม่ต้องเสียภาษี เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางชนิด ภาพวาด และโบราณวัตถุที่มีอายุมากกว่า 100 ปี โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราภาษีนำเข้า ดังนี้
แหล่งกำเนิดสินค้า
สินค้าที่มาจากประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา เช่น ไทย มักได้รับสิทธิพิเศษ Generalized System of Preferences (GSP) ซึ่งอาจทำให้ได้รับอัตราภาษีที่ต่ำกว่า หรือไม่ต้องเสียภาษีเลย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ
ประเภทและมูลค่า
สินค้าแต่ละประเภทมีจะรหัส HS Code (Harmonized System Code) เฉพาะ ซึ่งใช้ในการจำแนกประเภทสินค้าให้อยู่ในหมวดหมู่ภาษีที่แตกต่างกัน โดยสามารถใช้ HS Code ในการตรวจสอบอัตราภาษี ควบคู่ไปกับการพิจารณามูลค่าสินค้า
ข้อตกลงการค้า
สหรัฐอเมริกามีข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements – FTAs) ซึ่งเป็นการตกลงเกี่ยวกับการลด หรือยกเลิกอุปสรรคทางการค้า เช่น ภาษีศุลกากร กับหลากหลายประเทศ เพื่อให้สินค้าและบริการสามารถไหลเวียนระหว่างประเทศได้อย่างสะดวก ประชาชนจึงสามารถซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกลง เพราะผู้ผลิตไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร เป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจ ทำให้สินค้าที่มาจากประเทศที่มีข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกา ได้รับอัตราภาษีพิเศษที่ต่ำกว่าปกติ
ค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวข้อง
นอกเหนือจากอัตราภาษีนำเข้าแล้ว ยังมีค่าธรรมเนียมและภาษีอเมริกาอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึงเมื่อส่งสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา การศึกษารายละเอียดของค่าธรรมเนียมเหล่านี้ล่วงหน้า จะทำให้สามารถคำนวณต้นทุนการส่งออกได้อย่างถูกต้อง
- ค่าธรรมเนียมการประมวลผลสินค้า เป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บโดย U.S. Customs and Border Protection (CBP) สำหรับการตรวจสอบและประมวลผลเอกสารการนำเข้า
- ค่าภาษีขาย เป็นภาษีที่กำหนดโดยแต่ละรัฐ ซึ่งอัตราภาษีขายจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรัฐที่สินค้าถูกส่งไป
- ภาษีสรรพสามิต สินค้าบางประเภท เช่น แอลกอฮอล์ ยาสูบ และน้ำมัน อาจต้องเสียภาษีสรรพสามิต (Excise Tax) ซึ่งจะมีอัตราภาษีแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า
- ภาษีสรรพากรภายใน ในบางกรณี อาจต้องมีการเสียภาษีสรรพากรภายใน เช่น ภาษีเงินได้จากการขายสินทรัพย์
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงภาพรวมที่อาจมีการอัปเดตและออกกฎใหม่อยู่ตลอดเวลา แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งออกเพื่อความถูกต้องในการจ่ายค่าธรรมเนียมภาษีอเมริกาให้ครบถ้วน
เอกสารที่จำเป็นในการนำเข้าสินค้าจากไทยไปยังสหรัฐอเมริกา
หลังจากศึกษาภาษีอเมริกาแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ส่งผลอย่างมากต่อการส่งสินค้าจากไทยไปยังสหรัฐอเมริกา คือการเตรียมเอกสารประกอบให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อผ่านกระบวนการศุลกากรและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
ใบแจ้งรายละเอียดสินค้า (Commercial Invoice)
ใบแจ้งรายละเอียดสินค้า เป็นเอกสารที่สำคัญที่สุดสำหรับการนำเข้าสินค้า ซึ่งทำหน้าที่เปรียบเสมือนใบเสร็จรับเงินระหว่างผู้ส่งออกและผู้นำเข้า โดยจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า เช่น รายละเอียดผู้ส่งและผู้รับ รายละเอียดสินค้า ราคา จำนวน เงื่อนไขการชำระเงิน รวมถึงเงื่อนไขในการจัดส่ง
ใบขนสินค้า (Bill of Lading)
เอกสารฉบับนี้เป็นหลักฐานการรับสินค้าจากผู้ส่งออกเพื่อส่งมอบสินค้าไปยังผู้นำเข้าที่สหรัฐฯ โดยต้องมีข้อมูลครบถ้วน ดังนี้
- ข้อมูลผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และบริษัทขนส่ง โดยมีชื่อ ที่อยู่ และข้อมูลติดต่ออย่างชัดเจน
- รายละเอียดสินค้า ซึ่งประกอบด้วยรายการสินค้า คำอธิบาย รหัส HS จำนวน หน่วยวัด และมูลค่ารวม
- เงื่อนไขการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการขนส่ง วันที่จัดส่ง และจุดหมายปลายทาง
ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin)
ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล โดยทำหน้าที่ยืนยันว่าสินค้าผลิต หรือแปรรูปในประเทศใด ซึ่งจะมีความสำคัญต่ออัตราภาษีนำเข้า ข้อตกลงการค้า รวมถึงกฎระเบียบอื่น ๆ ซึ่งนอกจากผู้รับ ผู้ส่งออก และรายละเอียดสินค้าแล้ว จะต้องมีข้อมูลประเทศต้นกำเนิดและข้อมูลการออกใบรับรองที่มีชื่อและลายเซ็นของผู้มีอำนาจออกใบรับรองอย่างสมบูรณ์ด้วย
การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภาษีอเมริกา กฎระเบียบ และขั้นตอนการนำเข้าสินค้าอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ที่ยังคงสับสนและไม่แน่ใจ สามารถเลือกใช้บริการส่งของไป USA กับผู้เชี่ยวชาญ อย่างสบาย เอ็กซ์เพรส (Sabuy Express) ที่พร้อมดูแลแบบครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษา ขอใบอนุญาต จวบจนสินค้าถึงที่หมายอย่างปลอดภัย โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ 02-026-8996 หรือ https://lin.ee/E6PHauT
แหล่งอ้างอิง
- การเริ่มต้นทำธุรกิจส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 จาก https://www.ditp.go.th/contents_attach/93333/93333.pdf